บริษัท สวัสดีช็อป ผู้อยู่เบื้องหลังบริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม ทั้งการเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบนโทรศัพท์มือถือที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. ประกาศเข้าสู่การเป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ธุรกิจด้านการเงิน (หรือ FinTech) อย่างเป็นทางการ ด้วยการเปิดตัวแอปพลิเคชัน DeeMoney ซึ่งเป็นบริการที่เปิดให้ผู้ใช้สามารถโอนเงินระหว่างประเทศไปยัง 17 ประเทศทั่วโลกผ่านแอปพลิเคชัน รวมไปถึงบริการด้านการแลกเปลี่ยนเงินตรากับสกุลเงิน 34 สกุลเงินทั่วโลก
นอกจากนี้ สวัสดีช็อปยังจับมือกับพาร์ทเนอร์ที่รับส่งเงินสดระหว่างประเทศในระดับประเทศ ทั้ง Merchantrade จากมาเลเซีย, Xpress Money และ Wing Money จากกัมพูชา, MoneyGram บริษัทด้านการโอนเงินสดระหว่างประเทศรายใหญ่ของโลก รวมไปถึงยังจับมือกับ SuperRich 1965 (หรือ SuperRich ส้ม) ที่ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินสดในราคาที่เอื้อมถึงได้
กว่าจะเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ
แม้ว่า DeeMoney จะไม่ใช่บริการใหม่ เพราะว่าทางสวัสดีช็อปเองก็ซุ่มเริ่มทำโครงการนี้ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา หลังจากได้ใบอนุญาตด้านการโอนเงินระหว่างประเทศมาจากธนาคารแห่งประเทศไทย ผ่านการตั้งสาขาในห้างสรรพสินค้า รวมถึงที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทฯ เอง และเตรียมที่จะเปิดให้บริการสาขาใหม่ที่อยู่ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้า BTS สถานีนานาในวันศุกร์ที่ 20 กรกฎาคมที่จะถึงนี้
อย่างไรก็ดี การประกาศเปิดให้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนระบบปฏิบัติการ Android (ส่วนบน iOS จะตามมาภายหลังเนื่องจากระบบการส่งแอปพลิเคชันของแอปเปิล) เกิดขึ้นได้เนื่องจาก บริษัทฯ เพิ่งได้รับใบอนุญาตด้านการให้ชำระเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ (หรือ e-Payment) จากธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนับว่าเป็นบริษัทที่ไม่ใช่ธนาคารรายแรกที่เปิดให้บริการนี้อย่างเป็นทางการ
ทางทีมงาน The Breakpoint ได้มีโอกาสพูดคุยกับคุณสมภพ ปุณฑริกาภา ซึ่งเป็นผู้บริหารฝ่ายการตลาดของสวัสดีช็อป เป็นระยะเวลาสั้น ๆ โดยคุณสมภพกล่าวกับทีมงาน The Breakpoint ว่า การที่บริษัทฯ เข้ามาในตลาดของการเงิน เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงมาก เพราะว่าการที่จะได้มาซึ่งบริการเหล่านี้นั้น มีข้อจำกัดหลายประการในแง่ของประเทศที่ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศ ที่ต้องอาศัยพาร์ทเนอร์ต่าง ๆ ในแต่ละประเทศที่จะให้บริการ รวมไปถึงข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทยเองที่ทำให้บางอย่างยังไม่สามารถทำได้ในช่วงนี้
อีกหนึ่งในอุปสรรค์ที่คุณสมภพได้กล่าวถึงคือ การลงทะเบียนผู้ใช้งานครั้งแรก ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังจำเป็นต้องไปที่สาขาของ DeeMoney เนื่องด้วยข้อจำกัดจากธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งคุณสมภพได้กล่าวว่า การนำเทคโนโลยีลงทะเบียนผู้ใช้ผ่านอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Know Your Customer หรือ E-KYC) ที่ให้ผู้ใช้ ใช้เพียงแค่หนังสือเดินทางในการลงทะเบียน ซึ่งจนถึงตอนนี้ยังมีเพียงแค่ธนาคารไทยพาณิชย์รายเดียวเท่านั้นที่ใช้งานได้ (บนแอปพลิเคชัน SCB Easy สำหรับระบบปฏิบัติการ Android) และยังเปิดให้บริการในวงจำกัดเท่านั้น
โดยคุณสมภพกล่าวว่า บริษัทสามารถนำเทคโนโลยีนี้เข้ามาใช้งานในแอปพลิเคชันนั้นได้ แต่การที่จะนำมาใช้งานจริง ยังคงต้องผ่านการขออนุญาตจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยเช่นเคย
โอนเงินง่าย โอนเงินเร็ว ผ่านแอปพลิเคชัน
คุณอัศวิน พละพงศ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสวัสดีช็อปกล่าวว่า บริการ DeeMoney นั้น สามารถใช้งานโอนเงินระหว่างประเทศได้ทั้งที่สาขาและผ่านแอปพลิเคชัน โดยในช่วงแรก ผู้ใช้จำเป็นต้องลงทะเบียนที่สาขาของ DeeMoney ก่อนอย่างที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งหลังจากที่ลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้จะได้รับบัตรสมาชิกที่มีบาร์โค้ดและ QR code โดยการลงทะเบียนดังกล่าวจะเป็นการลงทะเบียนเพียงครั้งเดียวเท่านั้น และการใช้งานโอนเงินครั้งถัดไป ไม่จำเป็นต้องกรอกรายละเอียดเพิ่มเติม หรือยื่นหนังสือเดินทางเพิ่มเติมอีก
ในข้อมูลที่ได้รับจากการลงทะเบียน นอกเหนือจากข้อมูลจากหนังสือเดินทางที่ลงทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ยังรวมไปถึงเบอร์โทรศัพท์ของผู้ใช้งาน ซึ่งเอาไว้ใช้ในการยืนยันตัวตนอีกชั้น ซึ่งสามารถเอาไว้ใช้ในการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านทางสาขาเอง หรือผ่านทางแอปพลิเคชัน
การใช้งานแอปพลิเคชัน ผู้ใช้เพียงแค่สแกน QR code บนหลังบัตรเพื่อเปิดใช้งานบนแอปพลิเคชัน พิมพ์รหัสผ่านที่ได้ผ่านทาง SMS, ระบุชื่อผู้รับเงินปลายทาง พร้อมจำนวนเงิน โดยแอปพลิเคชันจะหักเงินผ่านบัญชีธนาคาร ที่จนถึงตอนนี้ยังคงมีให้บริการผ่าน 3 ธนาคารหลักอย่าง ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารกรุงเทพ และเมื่อโอนเงินเสร็จ ผู้โอนก็จะได้ SMS ที่มีรหัสในการรับเงินที่ปลายทาง ให้ผู้ใช้สามารถส่งต่อรหัสดังกล่าวไปยังปลายทางในการรับเงินสดได้ทันที
ชูจุดแข็ง ค่าธรรมเนียมต่ำ โอนง่าย ไม่หักเงินกลางทาง
ในช่วงแรกนั้น จะมีค่าธรรมเนียมคงตัวที่อยู่ที่ 150 บาท โดยผู้ใช้สามารถโอนเงินได้สูงสุด 800,000 บาท ตามระเบียบของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่ในอนาคตจะมีการเพิ่มค่าธรรมเนียม แต่จะพยายามไม่ให้ค่าธรรมเนียมเกิน 300 บาท (คิดเป็น 1-2% ของยอดเงินที่โอนได้) และจะไม่มีการหักเงินสดระหว่างทางในการโอนเงินเพื่อเพิ่มความสบายใจให้กับผู้โอนและผู้รับ
โดยอัตราในการโอนเงินนั้น จะเป็นอัตราที่มาจากอัตราการแลกเปลี่ยนระหว่างประเทศไทยกับประเทศปลายทางโดยตรง โดยไม่มีการแปลงสกุลเงินเป็นสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐก่อน แล้วค่อยแปลงสกุลเงินจากดอลลาร์สหรัฐเป็นสกุลเงินของประเทศปลายทาง
อีกส่วนหนึ่งคือการแลกเปลี่ยนเงิน ที่ผู้ใช้สามารถแลกเปลี่ยนเงินภายใต้อัตราแลกเปลี่ยนของ SuperRich ส้ม ซึ่งการันตีว่าจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และไม่มีค่าธรรมเนียม
เตรียมเสริมเทคโนโลยีใหม่ เมื่อพร้อม
คุณอัศวินยังกล่าวอีกว่า ทางบริษัทฯ ได้วางแผนถึงการพัฒนาระบบโครงสร้างของบริการเพิ่มเติมในอนาคต โดยจะเน้นไปที่เทคโนโลยีที่เพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ และเสริมสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้า ทั้งระดับรากหญ้าและระดับองค์กร
ณ ตอนนี้ บริษัทฯ ได้มีการเซ็นสัญญาปกปิดความลับกับธนาคารหลายแห่งจากหลายประเทศทั่วโลก เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบ Blockchain มาใช้งานร่วมกันกับบริการโอนเงินสดระหว่างประเทศ รวมไปถึงบรรลุข้อตกลงกับธนาคารแห่งประเทศไทยในการนำบริการจ่ายเงินผ่าน QR code บนแพลตฟอร์มของ Thai QR Payment หรือที่เรารู้จักกันในนามของ PromptPay ที่จะเปิดให้บริการเมื่อทางบริษัทได้ API สำหรับการจ่ายเงินจากทางธนาคารแห่งประเทศไทยมาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ DeeMoney ยังมีแผนที่จะเปิด API ที่ให้นักพัฒนาภายนอก เชื่อมแอปพลิเคชันเข้ากับ DeeMoney ในการรับโอนเงิน รวมไปถึงยังมีแผนที่จะคุยกับบริการ mobile payment รายอื่น ๆ อย่าง Rabbit LINE Pay, AirPay, AliPay, TrueMoney หรือ BluePay เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ในการโอนเงินที่มีมากกว่าการเชื่อมกับบัญชีของธนาคาร และ Thai QR Payment
ในส่วนของการโอนเงิน ณ ตอนนี้ยังจำกัดการโอนเงินระหว่างประเทศผ่านแอปพลิเคชันเพียง 17 ประเทศ แต่คุณสมภพได้แสดงความมั่นใจว่า บริษัทฯ สามารถขยายประเทศที่ให้บริการถึง 180 ประเทศทั่วโลก โดยคุณสมภพระบุว่า เนื่องจากบริษัทฯ ไม่ได้จำกัดการเป็นพาร์ทเนอร์กับแค่บริษัทเดียวหรือสองบริษัท ทำให้การขยายพาร์ทเนอร์ไปประเทศอื่น ๆ เป็นไปได้ง่ายมาก
ขณะที่การแลกเงินสดนั้น ทางบริษัทฯ ก็มีแผนที่จะเปิดบริการแลกเงินสดผ่านแอปพลิเคชันในปีหน้า และผู้ใช้สามารถไปรับเงินสดที่สาขาของ DeeMoney หรือสาขาของพาร์ทเนอร์อย่าง SuperRich รวมไปถึงการให้บริการส่งเงินสดในรูปแบบ delivery ถึงที่ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้ในอีกทางหนึ่ง นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเปิดบริการแลกเปลี่ยนเงินสดจากสกุลเงิน Cryptocurrency อีกด้วย
ตั้งเป้า ผู้ใช้ 5 ล้านคนทั่วประเทศใน 5 ปี
แม้บริการ DeeMoney เพิ่งเปิดให้บริการมาประมาณ 8 เดือน แต่ยอดผู้ใช้บริการ ณ ตอนนี้มีนับหลักพันคน ซึ่งส่วนใหญ่คือลูกค้าแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย ทั้งแถบสำโรง และมหาชัย โดยอาศัย 2 สาขาหลักอย่าง สาขาห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลสำโรง ที่สะดวกต่อลูกค้าชาวกัมพูชา และสาขาห้างสรรพสินค้าเทสโก้โลตัส มหาชัย ที่สะดวกต่อลูกค้าชาวเมียนมา
รวมถึงยังมีแผนที่จะตั้งบูธชั่วคราวที่โรงงานต่าง ๆ ทั่วประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์บริการผ่านแอปพลิเคชัน และการขยายความร่วมมือกับบริษัทอื่น ๆ เพื่อเพิ่มช่องทางในการโอนเงินระหว่างประเทศ แต่ทั้งนี้ยังคงต้องรอทางธนาคารแห่งประเทศไทยในการอนุมัติการแต่งตั้งตัวแทนในการโอนเงินและแลกเปลี่ยนสกุลเงิน ที่ไม่ได้มาจากทาง DeeMoney โดยตรง ซึ่งตอนนี้ ทางบริษัทฯ ได้พูดคุยกับห้างสรรพสินค้า Big C ไว้แล้ว ซึ่งทางห้างสรรพสินค้าก็แสดงความสนใจที่จะร่วมเปิดบริการนี้
คุณอัศวินแสดงความมั่นใจว่า บริการ DeeMoney จะประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดยตั้งเป้ายอดผู้ใช้ประมาณ 1 แสนรายภายในสิ้นปีนี้ และตั้งเป้ายอดผู้ใช้ทั่วประเทศ 5 ล้านคน และมีกระแสเงินสดโดยรวมกว่า 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายใน 5 ปี แม้ตัวเลขนี้จะค่อนข้างสูง แต่ต้องไม่ลืมว่า DeeMoney เองไม่ได้วางฐานลูกค้าแค่ทั่วไปเท่านั้น เพราะบริษัทฯ ตั้งเป้าหมายหลักอย่างแรงงานชาวต่างด้าวด้วย และบริษัทฯ ก็ไม่ได้จำกัดการให้บริการแค่การโอนเงินหรือการแลกเปลี่ยนเงินอย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น
ต้องติดตามดูต่อไปว่า การเปิดตัวบริการดังกล่าวจะสามารถเปลี่ยนแปลง landscape ในส่วนของการโอนเงินระหว่างประเทศ รวมถึงการแลกเปลี่ยนเงินสดได้มากน้อยแค่ไหน