Shazam แอปพลิเคชันสำหรับการค้นหาเพลงผ่านการจับเสียงเพลงผ่านไมโครโฟนสัญชาติอังกฤษ เป็นหนึ่งในสตาร์ตอัประดับยูนิคอร์น ที่ได้รับการประเมินค่าสูงถึงระดับพันล้านดอลลาร์ กำลังประสบปัญหาถึงรายได้ที่เติบโตไม่มากพอนัก เพราะมีรายงานระบุว่า ในปีล่าสุด รายได้ของ Shazam สามารถทำได้เพียง 40 ล้านปอนด์ (ราว ๆ 1,770 ล้านบาท) เท่านั้นจากรายงานล่าสุดของ The Telegraph
แม้ว่าตัวเลขนี้จะสูงกว่าปีก่อน ๆ ที่ทำได้ได้เพียง 35.2 ล้านปอนด์ (ราว ๆ 1,558 ล้านบาท) อยู่ที่ 14% แต่นั่นก็ยังไม่ได้สะท้อนถึงความเติบโตในระยะยาว และทำให้นักลงทุนต่าง ๆ เริ่มกังวลถึงสถานการณ์ต่อไปของ Shazam
เกิดอะไรขึ้นกับรายได้ของ Shazam
รายได้หลักของ Shazam ณ ตอนนี้นั้น มีเพียงส่วนแบ่งที่ได้จากการขายเพลงในร้านค้าเพลงออนไลน์ต่าง ๆ อย่าง iTunes หรือ Google Play Music รวมไปถึงแคมเปญโฆษณาต่าง ๆ ภายในแอป ขณะที่การขายแอปพลิเคชันรุ่นเสียเงินกลับกลายเป็นเพียงรายได้รองของ Shazam เท่านั้น
ยิ่งไปกว่านั้น ในยุคของบริการสตรีมมิ่งเพลงต่าง ๆ อย่าง Spotify หรือแม้แต่ Apple Music ทำให้ Shazam ต้องปรับตัวเพื่อรองรับกระแสนี้โดยเฉพาะ ขณะที่บริษัทฯ ยังต้องหาแหล่งทำรายได้ใหม่ ๆ เพิ่มเข้ามา อย่างการจับเสียงหรือภาพผ่านโฆษณาบนสื่อต่าง ๆ เพื่อประคับประคองธุรกิจต่อไป
ยูนิคอร์นผู้ตกอับ
ย้อนกลับไปเมื่อปี 2015 ทาง Shazam นั้นรับเงินจากนักลงทุนจาก Kleiner Perkins Caufield & Byers, Institutional Venture Partners และบริษัทอื่น ๆ อีก มูลค่า 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนทำให้ Shazam มีมูลค่าของบริษัทสูงถึงระดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่จากข้อมูลของสำนักงานการจดทะเบียนบริษัทของสหราชอาณาจักรกลับพบว่า บริษัทฯ ขาดดุลที่ 16.6 ล้านปอนด์ (ราว 733 ล้านบาท)
ส่วนปี 2016 นั้น สถานการณ์ของ Shazam ยังคงไม่ได้ดีขึ้นกว่าเดิมนัก เนื่องจากอัตราการสูญเสียก่อนหักภาษีนั้นสูงถึง 4 ล้านปอนด์ (ราว ๆ 176 ล้านบาท) รวมถึงมีการปรับลดจำนวนพนักงานลงจาก 251 คน เหลือ 221 คน
แสงสว่างปลายอุโมง?
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น Andrew Fisher ซึ่งเป็นประธานบอร์ดของ Shazam กล่าวว่า ในปี 2016 เป็นปีที่ประสบความสำเร็จอย่างดีของ Shazam ในด้านการสร้างรายได้ แต่ถึงกระนั้น การทำกำไรของบริษัทฯ ยังคงเป็นเรื่องยากอยู่ เนื่องจากบริษัทฯ เน้นไปที่การลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนา รวมไปถึงการสร้างนวัตกรรมของสินค้าเพิ่มเติม
จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ชัดเจนว่า Shazam กำลังหาทางรอดในการสร้างรายได้ของบริษัทฯ อยู่ เนื่องจากการหารายได้ ณ ปัจจุบันเริ่มทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ และนั่นอาจจะเป็นเพียงสัญญาณแรกของความล่มสลายของสตาร์ทอัประดับพันล้านดอลลาร์สหรัฐที่ไม่ได้จีรังยั่งยืนอย่างเช่น Facebook